น้ำตกหมันแดง น้ำตกร่มเกล้า ภราดร อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
อ.นครไทย จ.พิษณุโลก (ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้ออุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้านี้มีด้วยกันทั้งหมด 5 หน้า ท่านสามารถ click link ชื่อสถานที่ท่องเที่ยวในอุทยานฯ ทางด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
10. น้ำตกร่มเกล้า – ภราดร เป็นน้ำตกฝาแฝดซึ่งมีความสวยงามโดยมี “น้ำตกร่มเกล้า” เป็นน้ำตกชั้นบน และ “น้ำตกภราดร” เป็นน้ำตกชั้นล่าง ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าทึบแวดล้อมไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ก้อนหินน้อยใหญ่รอบตัวน้ำตกปกคลุมไปด้วยมอส – ตะไคร่น้ำสีเขียวชอุ่ม ในช่วงฤดูฝนน้ำตกทั้งสองแห่งนี้จะมีปริมาณน้ำมากและไหลแรงไม่เหมาะแก่การลงเล่นน้ำ ส่วนในช่วงฤดูหนาว – ฤดูร้อนน้ำตกทั้งสองแห่งจะมีปริมาณน้ำน้อยจนไม่สามารถลงเล่นน้ำได้ เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมายัง “น้ำตกร่มเกล้า – ภราดร” ส่วนใหญ่จะทำได้แค่ชมทัศนียภาพของตัวน้ำตกเท่านั้น
|
"น้ำตกร่มเกล้า - ภราดร"..........ตอนฤดูหนาว |
ทางลงสู่ตัวน้ำตกร่มเกล้า – ภราดร ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2331 ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูหินร่องกล้าประมาณ 3 กม. นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถยนต์บริเวณข้างทางแล้วเดินเท้าต่อไปตามเส้นทางลงเขาอีกประมาณ 800 เมตรก็จะถึงตัวน้ำตก
11. น้ำตกหมันแดง หากกล่าวถึงน้ำตกซึ่งมีความงดงามมากที่สุดของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าก็คงจะหนีไม่พ้น “น้ำตกหมันแดง” น้ำตกซึ่งประกอบด้วยชั้นขนาดใหญ่รวมทั้งหมด 9 ชั้น ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าดิบทึบ นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาชมความสวยงามของน้ำตกหมันแดงจะต้องขับรถยนต์/รถจักรยานยนต์จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2331 มุ่งหน้าสู่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ประมาณ 18 กม. ก็จะมองเห็นลานกว้างอันเป็นที่ตั้งของ “หน่วยพิทักษ์ฯ น้ำตกหมันแดง” อยู่ด้านซ้ายมือของถนน (กรณีไม่มีรถยนต์/รถจักรยานยนต์ส่วนตัว สามารถติดต่อเช่าเหมารถตู้จากร้านอาหารใกล้ ๆ กับศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าได้) จากหน่วยพิทักษ์ฯ นักท่องเที่ยวจะต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางแล้วเดินเท้าต่อเข้าไปยังน้ำตกหมันแดงอีกประมาณ 3.5 กม. (นักท่องเที่ยวจะต้องมาถึงหน่วยพิทักษ์ฯ น้ำตกหมันแดงตั้งแต่ช่วงเช้าก่อนเวลา 8.30 น. หากมาถึงหน่วยพิทักษ์ฯ ภายหลังจากเวลาดังกล่าวอาจจะไม่สามารถหาเจ้าหน้าที่นำทางได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ออกเดินทางไปยังตัวน้ำตกหมันแดงเรียบร้อยแล้ว) บริเวณลานกว้างด้านหน้าหน่วยพิทักษ์น้ำตกหมันแดงนี้เป็นพื้นที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งมักจะมี “เหมยขาบ” เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในช่วงฤดูหนาว
|
..........เส้นทางสาย "เมเปิ้ล".......... |
|
การเดินเท้าเข้าสู่ "น้ำตกหมันแดง" จำเป็นต้องขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าเป็นผู้นำทาง |
ระหว่างเส้นทางเดินเท้าสู่น้ำตกหมันแดงนักท่องเที่ยวจะได้พบกับต้นเมเปิ้ลจำนวนหนึ่ง เมื่อฤดูหนาวมาเยี่ยมเยือน (ประมาณปลายเดือน พ.ย. – ธ.ค.) ใบของต้นเมเปิ้ลเหล่านี้จะแปรเปลี่ยนจากสีเขียวสดกลายเป็นสีแดงเข้มแล้วปลิดปลิวร่วงหล่นลงสู่ผืนแผ่นดินเบื้องล่าง ประดับประดาหนทางกลางพนาไพรให้ดูแปลกแตกต่างจากที่เคย หากโชคดีสักหน่อยนอกจากจะได้เห็นใบเมเปิ้ลสีแดงร่วงหล่นอยู่ทั่วผืนป่าแล้วยังอาจได้พบกับ “ดอกกระโถนฤาษี” ซึ่งผุดโผล่ขึ้นมาจากพื้นดินบางแห่งด้วย สำหรับนักท่องเที่ยวที่หลงใหลในวิชาพฤกษศาสตร์อย่างสุดหัวใจและอยากจะเห็น “เฟิร์นซิกแซ็ก” หรือ “เฟิร์นใบศร” พันธุ์ไม้หายาก (แต่พบได้ง่าย ๆ ระหว่างเส้นทางเดินเท้าเข้าสู่น้ำตกหมันแดง) สามารถขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯนำทางพาไปดูได้ เฟิร์นชนิดนี้จะขึ้นอยู่เป็นหย่อม ๆ ระหว่างเส้นทางเดินเท้าหน่วยพิทักษ์ฯ – น้ำตกหมันแดง
|
ภาพที่ 1,4 เห็ดไม่ทราบชื่อ ภาพที่ 2 ดอกกระโถนฤๅษีที่แห้งเหี่ยว ภาพที่ 3 .....?..... |
|
ดอกไม้นานา ณ "ภูหินร่องกล้า" จ.พิษณุโลก |
นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการชมความงดงามของน้ำตกหมันแดงนั้นนอกจากจะต้องเดินทางมาถึงหน่วยพิทักษ์ฯตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องพกพาอาหารและน้ำดื่มติดตัวไประหว่างการเดินเท้าเข้าสู่ตัวน้ำตกด้วย (บริเวณหน่วยพิทักษ์น้ำตกหมันแดงไม่มีร้านจำหน่ายอาหาร/เครื่องดื่มใด ๆ ตั้งอยู่ นักท่องเที่ยวต้องตระเตรียมอาหาร – น้ำดื่มต่าง ๆ มาให้พร้อมก่อนจะเดินทางมาถึงหน่วยพิทักษ์ฯ) เนื่องจากการเดินทางไป – กลับระหว่างหน่วยพิทักษ์กับตัวน้ำตกหมันแดงจะต้องใช้เวลาประมาณ 4 – 5 ชม.เป็นอย่างน้อย เส้นทางบางช่วงต้องเดินขึ้น – ลงเขาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หากไม่ได้พกพาอาหารและน้ำดื่มติดตัวมาอาจจะไม่สามารถเดินทางไปจนตลอดรอดฝั่งได้ สำหรับผู้ซึ่งแบกทุกข์หนัก – เบาเอาไว้เต็มทางเดินอาหารและกระเพาะปัสสาวะควรจัดการธุระปลดทุกข์ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเพราะไม่มีห้องน้ำ/ห้องสุขาใด ๆ เปิดให้บริการอยู่เลยตลอดเส้นทางเดินป่าหน่วยพิทักษ์ฯ – น้ำตกหมันแดง (มีห้องน้ำ/ห้องสุขาอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ฯ แต่ภายหลังจากออกเดินเท้าเข้าสู่ตัวน้ำตกแล้วจะไม่พบห้องน้ำ/ห้องสุขาใด ๆ อีกเลย.....แม้แต่บริเวณตัวน้ำตกหมันแดงเองก็ยังไม่มีห้องน้ำ/ห้องสุขาเปิดให้บริการ)
ข้อมูลอีกประการหนึ่งซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังน้ำตกหมันแดงควรได้รับทราบไว้ ก็คือ พื้นผิวดินอันเฉอะแฉะระหว่างเส้นทางเดินเท้าและบริเวณโดยรอบน้ำตกหมันแดงแต่ละชั้นนั้นเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของเหล่า “ทาก” จอมกระหายเลือดตัวจ้อยที่จะค่อย ๆ กระดึ๊บ ๆ คืบคลานเข้ามาเกาะดูดเลือดจากผิวหนังของคุณอย่างเงียบเชียบ ซึ่งถึงแม้ว่าคุณจะเลือกเดินทางมาท่องเที่ยวน้ำตกหมันแดงแห่งนี้ในช่วงฤดูหนาวอันเยียบเย็น แต่เจ้าทากน้อยก็จะยังรอคอยต้อนรับเรียวขาอันอบอุ่นของคุณอยู่ไม่ห่างอย่างแน่นอน (ในช่วงฤดูฝนจะมีปริมาณทากชุกชุมมากกว่าในช่วงฤดูหนาว) เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวซึ่งจะเดินทางมาเยือนน้ำตกหมันแดงจึงควรพกพาถุงเท้ากันทาก , สเปรย์กันแมลง (สามารถใช้พ่นใส่ตัวทากให้หลุดออกจากอวัยวะที่มันเกาะอยู่ได้โดยง่าย อีกทั้งยังสามารถใช้พ่นตามร่างกายเพื่อป้องกันทากเกาะได้ดีพอสมควร) , ขวดบรรจุน้ำเกลือ หรือ อุปกรณ์ป้องกันทากอื่น ๆ ติดตัวมาด้วย และไม่ควรลงเล่นน้ำบริเวณตัวน้ำตกอย่างเด็ดขาดเนื่องจากเจ้าทากน้อย ๆ อาจจะคืบคลานเข้าไปแอบอิงอาศัยดูดเลือดอยู่ภายในอวัยวะอันเร้นลับของคุณได้
|
โฉมหน้าของ"น้ำตกหมันแดง" น้ำตกที่สวยที่สุดภายในเขต "อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า" |
|
น้ำตกหมันแดงชั้นที่ 9 , น้ำตกหมันแดงชั้นที่ 8 และ น้ำตกหมันแดงชั้นที่ 2 |
ดังที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นแล้วว่า “น้ำตกหมันแดง” เป็นน้ำตกซึ่งประกอบด้วยชั้นใหญ่ ๆทั้งหมด 9 ชั้น แต่ละชั้นไม่มีชื่อเรียกเฉพาะใด ๆ (ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมสอบถามข้อมูลโดยตรงจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ประจำหน่วยพิทักษ์น้ำตกหมันแดง เมื่อปี พ.ศ. 2553 พบว่ายังไม่มีการตั้งชื่อน้ำตกหมันแดงแต่ละชั้นเป็นการเฉพาะ แตกต่างจาก “อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ” ซึ่งมีการตั้งชื่อน้ำตกแต่ละชั้นเอาไว้อย่างไพเราะเสนาะหูและคล้องจองกัน ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้อาจจะมีการตั้งชื่อน้ำตกหมันแดงแต่ละชั้นขึ้นเช่นเดียวกับน้ำตกชื่อดังอีกหลาย ๆแห่งก็เป็นได้) ปัจจุบันจึงมีการเรียกชื่อน้ำตกแต่ละชั้นไปตามลำดับตัวเลขจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง คือ น้ำตกหมันแดงชั้นที่ 1 , น้ำตกหมันแดงชั้นที่ 2 , น้ำตกหมันแดงชั้นที่ 3 , ..........ไปจนถึงน้ำตกหมันแดงชั้นที่ 9 เป็นลำดับสุดท้าย
|
ต่างชั้น.....ต่างงดงาม.....แตกต่างกันไป |
|
น้ำตกหมันแดงชั้นที่ 3 , น้ำตกหมันแดงชั้นที่ 1 , น้ำตกหมันแดงชั้นที่ 6 ? (จำไม่ได้อ่ะ)
และ น้ำตกหมันแดงชั้นที่ 5 ตามลำดับ |
ตามมุมมองของทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) พวกเราคิดว่าน้ำตกหมันแดงชั้นที่มีความงดงามมากที่สุดได้แก่ น้ำตกหมันแดงชั้นที่ 8 ซึ่งเป็นชั้นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีแผ่นหินเล็ก ๆ เรียงตัวไล่ลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นน้ำตกย่อย ๆ อีกหลายชั้นดูสลับซับซ้อนและสวยงาม หากนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงตัวน้ำตกชั้นนี้ในช่วงสาย ๆ บางครั้งจะสามารถมองเห็นแสงอาทิตย์สาดส่องผ่านช่องว่างระหว่างยอดไม้ลงมาบริเวณด้านหน้าตัวน้ำตกเป็นลำสีขาวเงินช่วยขับให้ทัศนียภาพซึ่งสวยงามอยู่แล้วดูโดดเด่นขึ้นอีกหลายเท่า สำหรับน้ำตกหมันแดงชั้นอื่น ๆ นั้นถึงแม้ว่าจะมีความงดงามด้อยกว่าน้ำตกชั้นที่ 8 อยู่บ้าง แต่ก็ถือได้ว่ามีทัศนียภาพอันเป็นเอกลักษณ์ควรค่าแก่การแวะเยี่ยมชม นักท่องเที่ยวสามารถเดินจากน้ำตกชั้นที่ 1 (ชั้นบนสุด) ไปจนถึงน้ำตกชั้นที่ 9 (ชั้นล่างสุด) ได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 – 2 ชม. (ระยะทางจากน้ำตกชั้นที่ 1 – น้ำตกชั้นที่ 9 ห่างกันประมาณ 1 กม.แต่เส้นทางค่อนข้างชันและบางช่วงต้องเดินข้ามลำธารไปอีกฟากหนึ่ง นักท่องเที่ยวควรเดินไปพร้อม ๆ กันกับเจ้าหน้าที่นำทางของอุทยานฯ เพื่อป้องกันการหลง)
หากคุณได้ติดตามชมภาพถ่ายและอ่านข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่หน้าแรกของบทความ “อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า” มาจนถึงหน้าสุดท้ายตรงนี้ก็คงพอจะทราบได้แล้วว่า สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ นั้นมีอยู่มากมายหลายหลากแห่งจริง ๆ ในกรณีที่คุณต้องการแวะท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ รอบเขตอุทยานฯอย่างถ้วนทั่วก็ควรจะมีเวลาอยู่บนภูหินร่องกล้าอย่างน้อย 3 วัน 2 คืนขึ้นไป (สำหรับทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเลือกใช้เวลาเก็บข้อมูลอยู่บนอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าทั้งหมด 4 วัน 3 คืน) แต่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมไม่แนะนำให้เดินทางมายังอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง วันพ่อ , วันรัฐธรรมนูญ หรือ ช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างเด็ดขาด เพราะสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งภายในเขตอุทยานฯไม่มีที่จอดรถเพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก (เช่น ลานจอดรถบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติสำนักอำนาจรัฐ – ผาชูธง – ลานหินปุ่ม , จุดจอดรถบริเวณน้ำตกร่มเกล้า – ภราดร , จุดจอดรถภายในหมู่บ้านม้งร่องกล้า เป็นต้น) หากคุณเดินทางมาท่องเที่ยวภูหินร่องกล้าในช่วงเวลาดังกล่าวนอกจากจะต้องเสียเวลารอคอยต่อแถวจอดรถนานนับชั่วโมงแล้ว ยังต้องแย่งกันกิน แย่งกันใช้ห้องน้ำ แถมยังต้องแย่งกันถ่ายรูปจนเวียนหัวเลยทีเดียว (ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเลือกเดินทางลงจากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าในช่วงเที่ยงของวันที่นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ กำลังเดินทางขึ้นภูตอนเทศกาลปีใหม่พอดิบพอดี ทำให้พวกเราได้เห็นและได้สัมผัสกับสภาพอันน่าอเนจอนาถดังกล่าวอยู่บ้าง)
..........เพราะฉะนั้น..........ถ้าคุณอยากจะมาสัมผัสกับบรรยากาศของธรรมชาติอันงดงามพร้อม ๆ กันกับศึกษาร่องรอยความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์เมื่อครั้งก่อนเก่าแบบสบาย ๆ ไม่ต้องเบียดเสียดยัดเยียด ไม่ต้องหงุดหงิดกับความวุ่นวายสับสนของผู้คนอันล้นเหลือ ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่าให้ลาหยุดงานแล้วเดินทางมาท่องเที่ยวภูหินร่องกล้าในวันธรรมดา (จันทร์ – ศุกร์) ที่ไม่ตรงกับช่วงวันหยุดต่อเนื่องจะดีที่สุดครับ
การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า :
รถยนต์ส่วนบุคคล สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง
1. จาก อ.เมือง จ.พิษณุโลก ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ขับรถมุ่งหน้าไปทาง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ผ่านสวนรุกขชาติสกุโณทยาน – น้ำตกแก่งซอง – น้ำตกปอย ไปจนถึงสามแยกบ้านแยง เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2013 ไปทาง อ.นครไทย ก่อนถึง อ.นครไทยประมาณ 5 กม.จะพบสามแยกบ้านหนองกะท้าว ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2331 แล้วขับรถตรงขึ้นเขาต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าซึ่งตั้งอยู่ด้านซ้ายมือ (มีป้ายบอกทางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าอยู่เป็นระยะ ๆ ตลอดเส้นทาง)
2. จาก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2011 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2331 (ให้สังเกตว่าจะมีป้ายบอกทางไป “ภูทับเบิก” หรือ “บ้านทับเบิก” อยู่) ขับรถขึ้นเขาผ่านจุดตรวจภูทับเบิก – หน่วยพิทักษ์น้ำตกหมันแดง – สามแยกบ้านม้งร่องกล้า มาเรื่อย ๆ จะเห็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูหินร่องกล้าอยู่ด้านขวามือ
รถโดยสารประจำทาง – รถรับจ้าง ขึ้นรถประจำทางสายพิษณุโลก – นครไทย แล้วเหมารถจาก อ.นครไทยต่อไปยังอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า (ราคาเหมาต่อเที่ยวประมาณ 500 บาท) หรือจะเลือกเหมารถจาก อ.เมือง จ.พิษณุโลก ไปถึงอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าเลยก็ได้ (ราคาเหมารถรวมพาท่องเที่ยวตามสถานที่น่าสนใจต่าง ๆ บนอุทยานฯ วันละประมาณ 1,800 – 2,000 บาท ไม่รวมค่าน้ำมัน)
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง >> : ที่พัก/รีสอร์ทใน จ.พิษณุโลก
โปรแกรมทัวร์ใน จ. พิษณุโลก >> : ทัวร์ล่องแก่งลำน้ำเข็ก
|